Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรไม่ให้ลูกติดมือถือ

Posted By Plook TCAS | 15 พ.ย. 66
436 Views

  Favorite

          การปกป้องลูกน้อยในวัยประถมต้นจากการติดมือถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เราต้องช่วยลูกปรับตัวเพื่อลดโอกาสในการติดมือถือ และให้ลูกได้เรียนรู้การใช้งานมือถืออย่างมีสติและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคต และการจะปกป้องลูกได้ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งของลูกและของเรา ตามวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับทั้งสองฝ่ายคือ

 

สนับสนุนลูกให้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้งานมือถือ

            เราต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้เรื่องการใช้ application ที่มีอยู่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของลูกก่อน และเราตั้งค่าไว้ให้ลูกเรียกใช้ได้เอง ตามเวลาที่กำหนดไว้ร่วมกัน สอนลูกให้รู้เรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไม่เหมาะสม และการใช้มือถือที่มากเกินไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อสายตาและสุขภาพ ทำให้ลูกเกิดความเครียดสะสม หงุดหงิดหากไม่ได้เล่นโทรศัพท์ อาจเป็นเด็กก้าวร้าวและเด็กสมาธิสั้นได้ เราควรศึกษาการใช้โปรแกรม Parental Control หรือ "ระบบควบคุมโดยผู้ปกครอง" ซึ่งเป็นประโยชน์มาก แล้ว download มาใช้งาน เพราะเราสามารถควบคุมการใช้งานมือถือของลูกในการเข้าถึงเนื้อหา กำหนดเวลาการเล่นเกมหรือใช้งานแบบอื่น ๆ ได้ ป้องกันลูกไม่ให้แอบซื้อของในเกมเล่นโดยเราไม่รู้เรื่อง หรือลูกเข้าไปชมคลิปที่ไม่เหมาะสมที่เราไม่ได้ตั้งค่าไว้ให้ เราต้องให้เวลาในการพูดคุยกับลูก หากลูกมีปัญหาหรือติดขัดเกี่ยวกับการเล่นมือถือ หรือเมื่อลูกอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่ได้ฟังเพื่อนที่โรงเรียนเล่ามา

 

ส่งเสริมลูกให้ใช้เวลากับกิจกรรมที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์

            ชวนลูกออกกำลังกายกลางแจ้งในกิจกรรมที่ลูกชื่นชอบ เช่น เดินเล่นด้วยกันในสวนสาธารณะ ขี่จักรยานในสวนหย่อม วิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ อ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิทานแสนสนุก จัดกิจกรรมเล่านิทานใต้ต้นไม้ให้ลูกกับเพื่อน ๆ แถมด้วยขนมอร่อย ๆ เพื่อสร้างทักษะให้ลูกมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ด้วยการพูดคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตากัน พาลูกไปชมช็อปร้านหนังสือในวันหยุด ให้โอกาสลูกเลือกหนังสือที่ชอบด้วยตนเอง เป็นการส่งเสริมให้ลูกรักการอ่าน ปิดเทอมพาลูกไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จ. ปทุมธานี นิทรรศการเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ทั้ง 5 โซนจะทำให้ลูกตื่นตาตื่นใจสนุกสนานไปกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือพาลูกไปเที่ยวทะเล/น้ำตก/สวนสนุก ให้ลูกได้ชื่นชมธรรมชาติด้วยตาของตนเอง แทนการเห็นผ่านโทรศัพท์มือถือแต่เพียงอย่างเดียว

 

รับรู้ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของลูก

            เราต้องให้ความใส่ใจ ความช่างสังเกต และความใกล้ชิดกับลูก เพื่อรับรู้ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของลูก ว่าลูกต้องการมือถือเป็นเพื่อน หรือต้องการเราเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ ลูกน้อยวัยประถมยังเป็นเด็กเล็กมาก การสื่อสารและการแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงอาจยังไม่ชัดเจนนัก และอาจผันแปรไปตามสถานการณ์ที่เราในฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองหยิบยื่นให้ หากเรามุ่งแต่ทำงานหาเงิน หรือทุ่มเทปฏิบัติภารกิจอื่นใด จนมองข้ามความสำคัญในการที่ลูกต้องการเราในยามที่เป็นเด็กน้อย และสมองของลูกกำลังเจริญเติบโต ลูกต้องการความรักความอบอุ่นและอ้อมกอดแห่งความสุขจากเรา แต่เราไม่จัดให้ และปล่อยให้มือถือทำหน้าที่แทน เมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง ที่ลูกตกเป็นทาสมือถือเหมือนที่เราเป็น โอกาสที่เราจะเอาลูกกลับคืนมา อาจต้องใช้เวลานาน เพราะมือถือเป็นยาเสพติดอย่างหนึ่ง ผู้ใดตกเป็นทาสแล้วเลิกยาก ลูกอาจไม่ได้รักเรา ไม่เคารพเชื่อฟังเราเท่ากับที่ได้อ่านจากอินเทอร์เน็ต หรือรับรู้จากเพื่อนอวตารที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย นอกจากรูปในโปรไฟล์ หรือไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และเมื่อเติบโตขึ้น ลูกอาจได้รับข้อมูลที่บิดเบือนจากบุคคลผู้ไม่หวังดีผ่านมือถือ และลูกเชื่อถือได้อย่างสนิทใจมากกว่าคำสอนของเรา ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกเป็นอย่างยิ่ง ความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฉะนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการรับรู้และเรียนรู้

 

เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกในการใช้งานจากโทรศัพท์มือถือ

            ในปัจจุบันเราเองต้องใช้มือถือเป็นเครื่องมือหากิน ทั้งจากทำงานโดยตรงจากโทรศัพท์ หรือค้นคว้าหาข้อมูล หรือติดต่อสื่อสารกับองค์กรหรือบุคคล จึงจำเป็นต้องมีการจัดสรรเวลาให้ลงตัวกันทั้งในเรื่องของการทำงาน ดูแลครอบครัวและสุขภาพของลูกน้อย เราต้องพูดคุยกับลูกให้เข้าใจถึงวิธีการทำงานของเราที่จำเป็นต้องใช้มือถือ และเรามีการกำหนดตารางเวลาในการใช้งาน ฉะนั้นเราจึงต้องจัดตารางเวลาในการเล่นโทรศัพท์ให้ลูกเช่นกัน และให้ลูกปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาทของครอบครัวที่เราและลูกช่วยกันจัดสรร บอกให้ลูกไม่ต้องนำมือถือไปโรงเรียน ให้ใช้ได้ที่บ้านหรือเฉพาะกิจตามที่กำหนดไว้ และเมื่อถึงเวลาพักผ่อนของครอบครัว หรือเมื่อเราได้เล่นกับลูก หรือเมื่อถึงเวลากินอาหารกันพร้อมหน้าพร้อมตา เราและลูกรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวทุกคน ต้องใช้เวลาเหล่านั้นด้วยกันอย่างมีคุณค่า โดยปลอดจากการใช้มือถือ ลูกเห็นต้นแบบที่ดี ลูกก็จะทำตามอย่างเรา

 

          เราควรใช้ความอ่อนโยนและการพูดจาแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการเพาะบ่มนิสัยลูกไม่ให้ติดมือถือ เพื่อไม่ให้เป็นการทำร้ายจิตใจลูกซึ่งยังเป็นเด็กเล็ก เพราะบางกรณีลูกติดมือถือเกิดจากพ่อแม่เป็นฝ่ายหยิบยื่นโทรศัพท์ให้ลูก และสอนวิธีการใช้เพื่อให้ลูกเพลิดเพลินอยู่ในความสงบ ไม่รบกวนเวลาของพ่อแม่ หรือพ่อแม่อยากเอาใจลูก ฉะนั้น เราต้องพิจารณาตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น ว่าเราเป็นผู้ที่มีส่วนทำให้ลูกติดมือถือหรือเปล่า แล้วแก้ให้ตรงจุดด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง เพื่อเป็นการปกป้องลูกรักไม่ให้ตกเป็นทาสมือถือ และรวมทั้งตัวเราเองด้วย เนื่องจากการติดมือถือจะทำให้การสื่อสารของพ่อแม่ลูกลดน้อยลง ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียในภายหลังได้มากกว่าที่คิด

 

ณัณท์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow